Article
คอร์รัปชันในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ... อีกปัญหาที่ไม่ถูกปฏิรูป
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 15,2018

ปี 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ทั้ง 20 กระทรวงรวมกัน ใช้งบประมาณเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไป 7,985 ล้านบาท ไม่รวมจัดงานอีเว้นท์และงบโฆษณาที่แฝงในโครงการต่างๆ (ข้อมูลจาก ทีดีอาร์ไอ)
ปี 2559 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ปรากฎข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ตุลาคม เพียง 10 เดือน สำนักนายกฯ แค่หน่วยงานเดียว ใช้งบโฆษณาไปแล้วเป็นเงิน 976.17 ล้านบาท (นีลเส็น; Positioning Magazine, 13/11/60)
ปี 2560 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ตุลาคม และสำนักนายกฯ เพียงหน่วยงานเดียวเช่นกัน ได้ใช้งบประมาณไป 979.5 ล้านบาท
จากตัวเลขที่ปรากฎ จึงเป็นไปได้ว่า ตลอดปี 2559 และ 2560 การใช้งบโฆษณาของทุกหน่วยงานรวมกัน อาจจะมากกว่าที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ใช้เสียอีก
รัฐบาลใช้เงินเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ แล้วมีปัญหาอย่างไร
สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ได้ศึกษาและมีความเห็นว่า
“การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ภาคประชาชนและภาคเอกชน ได้รับรู้ได้เข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐได้อย่างเป็นทั่วถึงและเท่าเทียม การสื่อสารที่ดีจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอแนะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น แต่เพื่อผลประโยชน์โดยมิชอบทำให้ผู้มีอำนาจพยายามใช้เงินของแผ่นดินไปเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างไม่เกิดประโยชน์ ไม่คุ้มค่า เกิดการรั่วไหล บ่อยครั้งที่พบว่าผู้มีอำนาจจงใจใช้เงินเหล่านี้ไปเพื่อเกื้อหนุนพวกพ้องหรือใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกดดันสื่อมวลชนให้บิดเบือนการทำหน้าที่”
เกิดคอร์รัปชันได้อย่างไร
องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนและองค์กรธุรกิจการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลต่อ กมธ. ของ สปท. ไว้ว่า ที่ผ่านมามักมีความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบประมาณเหล่านี้หลายประการ
1. มีการคอร์รัปชันหรือหักเงินใต้โต๊ะมากถึงร้อยละ 40 ของงบประมาณที่ใช้ไป
2. เน้นประชาสัมพันธ์ตัวบุคคล โดยมุ่งหวังเพื่อสร้างภาพพจน์สร้างชื่อเสียงโดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าการสื่อสารถึงโครงการหรือบริการหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้เงินที่ใช้ไปไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า
3. นักการเมืองมักใช้เงินเหล่านี้ไปอุดหนุนกลุ่มธุรกิจหรือสื่อมวลชนที่เป็นพวกพ้องเครือข่ายของตนเอง รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่มิชอบบางอย่าง จนถึงการแทรกแซงและการครอบงำสื่อ
สปช. และ สปท. ได้เสนอการแก้ไขไว้อย่างไร
ปี 2558 สปช. เสนอให้ออกกฎหมายควบคุมและตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ และ เสนอให้มีคณะกรรมการกำกับดูแล
ปี 2559 สปท. สนับสนุนข้อเสนอของ สปช. และ จัดทำร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง แต่ได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลและ วิป สนช. จนในที่สุดมีการเจรจากันว่า ควรออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ มาใช้บังคับ สปท. จึงจัดทำร่างระเบียบดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลก่อนสิ้นวาระ สปท.
แต่จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีทั้งกฎหมาย ระเบียบหรือนโยบายใดๆ ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้
สรุป
การปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและการใช้งบประมาณของรัฐไปครอบงำสื่อ ตลอดจนหามาตรการสร้างความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่รอผู้มีอำนาจที่จริงใจมาลงมือแก้ไขต่อไป
ดร. มานะ นิมิตรงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน